สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ (สวส.)

Office of Academic Resources and Information Technology

แนะใช้เน็ตการเมือง ต้องกลั่นกรองข้อมูลเข้ม

 ด้านคณะอำนวยการจัด110 ปี รัฐบุรุษอาวุโส เปิดเว็บ "ปรีดี-พูนศุข พนมยงค์" เพิ่มช่องทางเผยแพร่ประวัติพร้อมรวมกิจกรรม หวังใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตเข้าช่วย เล็งต่อยอดขยายไปถึงบุคคลสำคัญท่านอื่น...

          นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ ประธานคณะทำงาน โครงการห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ (Pridi-Phoonsuk E-Library) กรรมการอำนวยการจัดงาน 110 ปี รัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ 2443- 2543 และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า คณะกรรมการฯ ได้จัดทำโครงการห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ และเว็บไซต์ปรีดี-พูนสุข พนมยงค์ (www.pridi-phoonsuk.org) เพื่อเผยแพร่ผลงาน ภาพถ่ายพร้อมคำบรรยาย ไฟล์เสียงและวีดีทัศน์ กิจกรรมต่างๆ ที่คณะกรรมการฯ จัดขึ้น และสรรนิพนธ์ปรีดี ฉบับภาษาอังกฤษ รวมถึง งานเขียนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษา และประชาชนที่สนใจ สามารถสืบค้นความรู้ผ่านอินเทอร์เน็ต ในรูปแบบของสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างรวดเร็ว

          ประธานคณะทำงานฯ กล่าวต่อว่า คณะผู้จัดทำพยายามสร้างให้เว็บไซต์ดังกล่าว กลายเป็นฐานข้อมูลที่สมบูรณ์แบบที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ในการรวบรวมผลงานและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับบุคคลทั้ง 2 ท่าน รวมถึง บุคคลสำคัญท่านอื่น ที่อยู่นอกประวัติศาสตร์และความทรงจำของประเทศไทย อาทิ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ กุหลาบ สายประดิษย์ หรือ จิตร ภูมิศักดิ์ ฯลฯ และนำผลงานเชิงวิชาการของบุคคลเหล่านี้ รวบรวมไว้ที่ฐานข้อมูลของสำนักงานคระกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) หรือที่เรียกว่า ThaiLIS Digital Collection (TDC) เพื่อให้ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดเอกสารหรือวิทยานิพนธ์ฉบับเต็มได้จาก 
http://dcms.thailis.or.th

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายในงานดังกล่าวยังมีการจัดงานเสวนาในหัวข้อ “การเมืองไทยในโลกอินเทอร์เน็ต” โดยนักวิชาการและผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมแสดงทัศนคติและแลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นดังกล่าว โดยผู้ร่วมเสวนาต่างแสดงความเห็นที่สอดคล้องกัน ถึงประโยชน์และความเปลี่ยนแปลงที่สังคมได้รับจากการขยายตัวของอินเทอร์เน็ตว่า ระบบอินเทอร์เน็ตถือเป็นการปฏิวัติการติดต่อด้วยช่องทางการสื่อสารประเภทใหม่ที่มีความรวดเร็ว ภายใต้เสรีภาพและความอิสระที่มากกว่าสื่อประเภทอื่น แต่ต้องอาศัยความพยายามและการสืบค้นเพื่อเข้าถึงข้อมูล โดยผู้รับข้อมูลต้องมีกระบวนการคิดและกลั่นกรองข้อมูล เพื่อพิจารณาถึงความถูกต้องในการบริโภคข้อมูล

          ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า ส่วนความเกี่ยวข้องของอินเตอร์เน็ตต่อการเมืองนั้น ผู้ร่วมเสวนาแสดงความเห็นว่า เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมือง สื่อมวลชนทุกประเภทจะถูกนำมาใช้และถูกเชื่อมโยงให้เกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมือง ดังนั้น สื่ออินเทอร์เน็ตจึงถูกเชื่อมโยงกับเรื่องดังกล่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะข้อได้เปรียบที่ผู้ใช้สามารถซ่อนและปิดบังตัวตนที่แท้จริงได้ ทำให้คนจำนวนมากเลือกที่จะแสดงออกทางความคิดผ่านอินเทอร์เน็ตมากกว่าช่องทางอื่น ในช่วงท้ายของการเสวนา ผู้ร่วมเสวนาได้ฝากข้อคิดเห็นถึงเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ต่อการดำเนินคดีแก่ผู้ที่กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ว่า ในการดำเนินการเพื่อเอาผิดนั้น ควรสืบหาผู้กระทำความผิดและนำตัวมาลงโทษ ไม่ใช่เอาผิดจากผู้ดูแลหรือเจ้าของเว็บไซต์เพียงฝ่ายเดียว ขณะเดียวกัน ผู้มีหน้าที่ดูแลเว็บไซต์ควรเพิ่มความเอาใจใส่และเข้มงวดกับผู้ที่อยู่ในอำนาจการดูแลของตนให้มากขึ้นเช่นกัน
 
บทความจาก : ไทยรัฐ