สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ (สวส.)

Office of Academic Resources and Information Technology

วิธีการเลือกซื้อ Android Smartphone

1. เครื่องที่ใหม่ที่สุดไม่ใช่เครื่องที่ดีที่สุดเสมอไป

บางครั้งการที่เราซื้อเครื่องรุ่นใหม่ล่าสุดที่ออกใหม่แบบสดๆ ร้อน จะทำให้เราสามารถเอาไปอวดเพื่อนๆ ให้ดูเท่กว่าใครได้ก็จริง แต่เท่แล้วไงล่ะ เท่ไปก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตดูดีขึ้นซักหน่อย สู้รอเครื่องรุ่นใหม่ออกไปได้ซัก 2-3 เดือน (หรืออาจจะ 4 เดือน) เพื่อรอดู Feedback ของเครื่องตัวนั้น หรือโปรโมชั่นใหม่ๆ ที่จะออกมาล่อใจเรากันดีกว่า ไม่แน่ราคาก็อาจจะต่ำลงด้วย แล้วเราก็จะได้ของดีราคาถูกกว่ามาใช้งาน
ปกติ Smartphone ตัว Top ของแต่ละยี่ห้อจะมีกำหนดออกมาประมาณปีละ 1-2 ตัว หากตัวใหม่มา ราคาของตัวเก่าก็จะตกไปเป็นเรื่องปกติ

2. จะซื้อทั้งที ลองเครื่องให้เรียบร้อยว่ามันเหมาะกับเราหรือไม่ และตรวจสอบข้อมูลให้ดีก่อนซื้อ

หากซื้อเครื่องไปแล้วทางผู้ผลิตออกมาประกาศว่าจะเลิก Support สำหรับการ Update เป็น Android Version ใหม่ไปซะล่ะ เราคงจะแค้นกันน่าดูเลย เพื่อไม่ให้เป็นการผิดพลาด หลังจากไปลูบๆ คลำๆ ลองเครื่องเรียบร้อยแล้ว ดูตำแหน่งการจัดวางปุ่ม และขนาดของเครื่องว่าถนัดมือเราหรือไม่ ใส่ในกระเป๋ากางเกงตัวโปรดของเราแล้วไม่รู้สึกเกะกะหรือหนักกระเป๋า และตัดสินใจได้แล้วว่าเจ้า Android ตัวนั้นแหละ จะอยู่เป็นคู่ชีวิตเราไปอีกนาน ก็อย่าลืมตรวจเช็คดูด้วยล่ะว่าค่ายผู้ผลิตเค้าจะสนับสนุนเจ้าว่าที่ Smartphone ตัวใหม่ของเราได้มากแค่ไหน แล้วจึงค่อยตัดสินใจซื้อ

3. ลองสัมผัสกับหน้าจอผู้ใช้งาน (UI) ก่อนตัดสินใจซื้อด้วย

หน้าจอผู้ใช้งานนี่แหละ 1 ในหัวใจหลักที่เราต้องปะทะกับมันทุกๆ วันเลย หลังจากเปิดเครื่องมา และปลดล็อคเครื่องแล้ว เราก็ต้องเจอกับเจ้าหน้านี้นี่แหละเป็นหน้าแรก ถ้าหากมันอืดเกินไป ไม่ทันใจ ระวังจะหงุดหงิดจนอยากปาเครื่องทิ้งไปซะล่ะ หากดูในตลาดตอนนี้ HTC ก็มี Sense Samsung ก็มี Touchwiz Sony Ericsson ก็มี Timescape ฯลฯ แต่ละตัวก็มีลูกเล่นที่เป็นเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันไป ดูๆ เอาไว้ UI ตัวไหนที่เราคิดว่าเหมาะกับเราที่สุดก็เลือกใช้ตัวนั้นได้เลย หรือหากว่าชอบเครื่องแต่ไม่ชอบ UI ก็อาจจะไปเลือกใช้วิธีเปลี่ยน UI ไปใช้ตัวที่เป็น Custom สำหรับให้เราลงเองก็ได้นะ ไม่มีปัญหา

4. ดูขนาดความจุของแบตเตอรี่ไว้ด้วย

ต่อให้ Specs เทพแค่ไหน แต่ถ้าให้แบตเตอรี่มาน้อย ใช้ๆ งานไปซักพักแบตเตอรี่ก็จะหมด และเจ้า Android ก็จะกลายเป็นที่ทับกระดาษดีๆ ราคาแพงนั่นเอง คิดดูสิ เราซื้อ Smartphone Specs แรงมาเพื่อจะเล่นเกมกันนะ และคงไม่ได้คิดจะเล่นเบาๆ กันแน่ๆ และหากแบตเตอรี่มีให้น้อย ไม่คิดเหรอว่าเล่นเกมไปซักพักแบตเตอรี่ก็จะไม่เหลือแน่นอน อย่างน้อยตอนนี้สำหรับ Smartphone ต้องมีแบตเตอรี่ให้อย่างน้อย 1400 mAh กันแล้วล่ะ ยิ่งให้ได้ถึง 2000 mAh ได้ยิ่งดีเลย

5. เลือกแบบและขนาดหน้าจอที่ดูแล้วสบายตาที่สุด

หน้าจอของ Android Smartphone   เป็นอะไรที่มีแบบให้เลือกมากที่สุด ทั้งหน้าจอที่มีหลายขนาด และวัสดุที่นำมาใช้ทำหน้าจอที่เยอะจนจำไม่ไหว ขนาดหน้าจอของ Android Smartphone มีตั้งแต่ 2 นิ้วกว่าๆ ยันเกือบๆ 5 นิ้ว ขนาดที่ฮิตตอนนี้ที่สุดก็น่าจะเป็นขนาด 3.5 และ 4 นิ้ว ส่วนในรุ่นใหม่ๆ ก็มี 4.3 นิ้วออกมากันหลายรุ่นเลย ส่วนหน้าจอในตอนนี้ก็สามารถรองรับได้ถึง 16ล้านสี ส่วนหน้าจอนั้นก็มีให้เลือกหลากหลายทั้ง Amoled จอสุดฮิตใน Android รุ่นเก่าหลายๆ ตัว Super Clear LCD ที่สู้แสงได้ดีและมีความสว่างในตัว NOVA Desplay ที่สว่างยิ่งกว่าใครๆ แถมยังประหยัดพลังงานอีก หรือว่า Super Amoled ที่มีความคมชัดอยู่ในตัวสูง ฯลฯ และถ้าให้ดีควรจะมี Gorilla Glass ที่มีความยืดหยุ่นสูงในตัวด้วย เพื่อที่จะได้ช่วยลดความเสียหายเวลาที่จอของ Smartphone ไปกระแทกกับอะไรเข้า

6. ตัวเลขของความละเอียดกล้อง (MPixel) หากสูงก็ไม่ได้แปลว่ากล้องดีเสมอไป

ถึงแม้ว่ากล้องจะความละเอียดสูง และสามารถถ่ายรูปคุณภาพระดับ HD ได้แล้วก็ตาม แต่มันก็เป็นเพียงแค่ตัวเลขแหละนะ ไม่ได้ช่วยบอกว่ากล้องดีเลยเท่าไหร่ จุดสำคัญมันอยู่ที่ตอนถ่าย ว่าภาพที่ได้มานั้นออกมาดีแค่ไหน จะ Test ว่ากล้องดีไม่ดี หากมีโอกาสให้ลองทดสอบถ่ายรูปดูในสภาพที่แสงน้อยมากๆ ครับ ในสภาวะแสงน้อย รูปจากกล้องจะถูกปรับสภาพให้เหมาะกับสภาพแสงในขณะนั้น และสิ่งที่เราจะได้เห็นก็คือ Noise ในรูปที่ถ่าย และ Speed Shutter ที่สามารถบ่งบอกคุณภาพของกล้องได้ดีเลยทีเดียว หากกล้องทำงานได้ช้า แสงที่ถูกรวบรวมเข้ามาในเลนส์ขณะถ่ายรูปจะทับซ้อนกันหลายๆ รอบ จนทำให้รูปเบลอไป และรูปที่ออกมาก็จะไม่สวยนั่นเอง

7. พยายามซื้อเครื่องที่สามารถใช้ Android Version ล่าสุดได้แล้ว

ถ้าหากเราซื้อเครื่องที่ยังไม่ได้ใช้ Android Version ล่าสุดมาใช้ล่ะก็ เราอาจจะยังต้องไปนั่งลุ้นตัวโก่งกันอยู่ ว่าเราจะได้ใช้ Android ตัวใหม่กันเมื่อไหร่นะ (เหมือนที่หลายๆ คนเป็นอยู่ตอนนี้นั่นแหละ) Android Version ใหม่จะออกมาเมื่อไหร่ มันก็ขึ้นอยู่กับทางผู้ผลิตซะด้วยสิ รู้สึกเหมือนชีวิตไปอยู่ในกำมือคนอื่นจริงๆ อึดอัดมั้ยล่ะ?? เพื่อที่จะไม่ต้องไปนั่งลุ้นพร้อมกับคนอื่น หากจะซื้อเครื่องใหม่จริงๆ ก็เลือกซื้อเครื่องที่ใช้ Android ตัวใหม่ไปเลยดีกว่า อย่างน้อยก็ไม่ต้องไปลุ้นว่าจะได้ใช้ Android ตัวใหม่หรือไม่ จนกว่า Android ตัวใหม่กว่าจะออกโน่นแหละ ได้ใช้ฟังก์ชั่นใหม่ก่อนใครดีออกเนอะ

8.เลือกค่ายที่มั่นใจว่าจะ Update ตัว Android ให้อย่างสม่ำเสมอ

หากเทียบกันดูตอนนี้แล้วล่ะก็ ดูเหมือนค่ายที่คงเส้นคงวา Update ตัว Version ของ Android ใน Smartphone ทุกรุ่นของตัวเองมากที่สุดคงต้องยกให้ HTC เค้าเลยล่ะ ถึงแม้ว่าเครื่องจะออกใหม่เร็วจนราคาตกไวบ่อยๆ แต่เราก็ยังมั่นใจได้ว่าเจ้า Smartphone ยี่ห้อนี้จะไม่ตกเทรนด์ตามราคาไปด้วย ค่ายอื่นๆ ที่ Update เร็วรองลงมาก็มี Samsung ส่วนค่ายอื่นๆ นั้นคงต้องปรับจูนกันอีกซักพัก กว่าจะปรับตัวเข้ากับการเติบโตของ Android ได้คงต้องรอซักพักกันหน่อยล่ะ

9. ไม่ต้องไปสนใจ Option เสริมให้มากนัก ให้สนใจเท่าที่เราจะได้ใช้ก็พอแล้ว

ไม่ได้บอกว่าไม่ให้ใช้พวกอุปกรณ์เสริมเลยนะ แต่ถ้าหากเราคิดว่าไม่ค่อยได้ใช้เลยก็อย่าไปซื้อมันเลยดีกว่า เดี๋ยวพอซื้อมาแล้วจะรู้สึกว่าเสียดาย จะซื้อมาทำไมหว่าซื้อมาก็ไม่ได้ใช้ อย่างเช่น ฐานตั้งเครื่อง เชื่อมั้ยล่ะว่าถึงจะซื้อเครื่องที่มีฐานตั้งมาก็ตาม แต่เห่อได้ซักพักเราก็เอาเครื่องวางนอนกับโต๊ะหรือเตียงเหมือนเดิม มันวางง่ายกว่าเยอะ หรือจะ Port HDMI เชื่อเถอะว่าโอกาสที่จะได้ใช้มันน่ะน้อยมาก จะมี Port นี้หรือไม่มีก็ไม่น่าเสียหายอะไร ดีไม่ดี หากซื้อเครื่องที่ไม่มี Port นี้ อาจจะได้ราคาที่ถูกลงอีกเยอะ เพราะฉะนั้นหากไม่จำเป็นก็ไม่ต้องเลือกซื้อเลยดีกว่า เอาที่จำเป็นก็พอแล้ว

10. ไม่จำเป็นก็ไม่ต้องเอาหรอกเครื่องที่มี Keyboard

Android มี Keyboard แบบ Touchscreen ที่ออกมาได้อย่างยอดเยี่ยมอยู่แล้ว หากไม่จำเป็นก็ไม่ต้องใช้หรอก เครื่องที่มีปุ่ม Keyboard มาให้ด้วย ยกเว้นแต่ว่าคุณอาจจะชอบสัมผัสกับปุ่มแข็งๆ บนตัวเครื่องมากกว่าบน Touchscreen แล้วล่ะก็ นั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง

11.เลือกเครื่องระบบ GSM ถ้าหากเราเป็นคนชอบเที่ยวมากๆ

เครือข่ายโทรศัพท์ในแต่ละประเทศทั่วโลก ยังใช้ระบบ GSM อยู่ หากเราจะซื้อเครื่องใหม่จริงๆ ก็ควรจะเลือกซื้อเครื่องที่เป็นระบบ GSM ก็จะดีกว่า เพราะเรายังสามารถจะนำเจ้า Android ไปใช้ในประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้อีกด้วย แต่ก็ระวังไว้ด้วยล่ะว่ามีบางประเทศอย่างเกาหลีใต้ ที่เค้าไม่ได้ใช้ระบบ GSM แล้ว อย่าไปซื้อโทรศัพท์จากประเทศเค้ามาเชียว เพราะเค้าใช้ระบบ CDMA กันแล้ว จะซื้อเครื่องมาก็เอามาใช้ในไทยไม่ได้หรอก ก่อนจะซื้อเครื่องก็ศึกษาข้อมูลดูก่อนดีๆ ละ

12. ดูให้ดีด้วยว่าเครื่องที่จะซื้อรองรับ 3G ความถี่เดียวกับเครือข่ายที่เราใช้หรือไม่

จะเอาไว้เลยนะว่า AIS ใช้ความถี่ 900 MHz True Move กับ DTAC ใช้ความถี่ 850 MHz และ TOT ใช้ความถี่ 2100 MHz สำหรับความถี่ 2100 MHz ไม่น่ามีปัญหา เพราะเครื่อง Smartphone ส่วนใหญ่รองรับอยู่แล้ว แต่ความถี่ 850 MHz และ 900 MHz นี่ต้องเช็คเครื่องดูดีๆ ก่อนซื้อล่ะ ขืนซื้อเครื่องที่ไม่รองรับมา ใช้ 3G ไม่ได้แล้วจะเสียใจนะ

13. ถ้าคิดว่าต้องลง Apps เยอะๆ เลือกเครื่องที่ให้พื้นที่ในตัวเครื่องมากกว่า 1 GB เลยดีกว่า

เป็นอะไรที่น่าหงุดหงิดมากเวลาที่ซื้อเครื่องมา แต่พื้นที่ที่ให้ดันมีน้อย ลง Apps ไปไม่กี่ตัวพื้นที่ก็เต็มซะแล้ว ต้องไม่ไล่ลบ Apps เพื่อเคลียร์พื้นที่เวลาอยากลง Apps ใหม่อีก ตัดปัญหานี้ไปเลยครับ กะพื้นที่เผื่อไว้ว่าเราจะลง Apps ไว้เท่าไหร่ แต่ก็อย่าลง Apps เยอะเกินไปล่ะ ไม่งั้นเครื่องอืดเป็นเต่าแน่ สำหรับคนที่ใช้แต่ Apps เล็กๆ ใช้งานทั่วไป ไม่มีอะไรมากพื้นที่ 512 MB ก็อาจจะพอ แต่อย่าลืมซะล่ะว่าพื้นที่ที่ให้มานี้ ยังต้องตัดออกบางส่วนไปใช้สำหรับลงตัวระบบปฏิบัติการด้วย อย่าง UI ของ HTC ยังใช้พื้นที่ตั้ง 300 กว่า MB เลย คิดดูสิว่าพื้นที่จริงจะเหลือให้เท่าไหร่เชียว
ยิ่งใครที่ชอบเล่นเกมล่ะก็ ยิ่งต้องการพื้นที่เยอะๆ เลยล่ะครับ เพราะว่าเกมใหญ่ๆ แต่ละเกมใช้พื้นที่เยอะมาก ถึงแม้จะย้ายไปลงใน SD Card ได้ แต่ก็ยังมีบางส่วนที่ยังต้องลงในตัวเครื่องอยู่ดี สำหรับคอเกมต้องจัดไปเลยครับ พื้นที่ 1-2 GB ขึ้นไป (บางคนอาจจะยังไม่พอใช้ด้วยซ้ำนะ)

14. CPU ที่เร็วกว่าก็ไม่ได้จำเป็นเสมอไป

CPU แรงๆ จะมีผลต่อการประมวลผลของเครื่องเท่านั้น แต่หาก CPU ดี แต่ UI ทำมาไม่ดี ก็ไม่มีประโยชน์อะไรอยู่ดี การแสดงผลที่ได้ก็ยังอาจจะกระตุกจนเสียอารมณ์ได้ ดีไม่ดี บางเจ้าทำเครื่องออกมา Specs ห่วยกว่า แต่เครื่องอาจจะเร็วกว่าก็มีนะ
ส่วนใครน่ะเหรอที่ควรใช้เครื่อง CPU แรงๆ ก็พวกคนที่ชอบถ่ายวีดีโอ หรือชอบเล่นเกมแรงๆ นั่นไง พวกนั้นถึงจะได้ใช้ประโยชน์จากมันได้เต็มที่ ส่วนคนธรรมดา ขอเครื่อง Android ซักตัวที่ทำงานได้เร็วๆ ไม่มีอืด แค่นั้นก็คงพอแล้ว

15. ดูด้วยว่าเครื่องสนับสนุนการ Root มั้ย??

การ Root จะช่วยทำให้เราสามารถดึงเอาประสิทธิภาพสูงสุดของตัว Android ออกมาได้ ถ้าหากเราคิดจะ Root เครื่องล่ะก็ ดูให้ดีๆ ด้วยล่ะว่าเครื่องไหน Root ได้บ้าง จนถึงตอนนี้ยังมี Smartphone บางยี่ห้อที่ยังไม่สนับสนุนการ Root อยู่ หา่กคิดจะ Root อยู่ล่ะก็ ตรวจสอบข้อมูลดูดีๆ ก่อนล่ะ

16. ออกจากบ้านไป แล้วลอง Test เครื่องซะก่อนจะซื้อ

คงไม่มีใครบ้า นั่งมองแคตตาล็อค กับดูรีวิว แล้วรู้ว่าตัวเองถูกชะตากับ Smartphone ตัวไหน แล้วเดินไปร้าน ไปซื้อเครื่องมาโดยไม่ได้ลองเครื่องด้วยตัวเองก่อนล่ะ นั่นมันไม่ถูกต้อง!! จะซื้อก็ต้องลองเครื่องด้วย และตรวจสอบสภาพเครื่องด้วยว่ามีรอยขีดข่วนหรือเจอปัญหาอะไรมั้ย และหากมีคนขายหรือเพื่อนที่ให้เรายืมเครื่องมาลองเล่นก่อนได้ ก็ลองยืมมาเล่นก่อนซะ จะได้รู้ว่าเราชอบหรือไม่ชอบกันแน่

17. ดูกระแสตอบรับจากผู้ใช้คนอื่นว่าเครื่องดีจริงหรือไม่

Smartphone บางตัว Specs ทุกอย่างอาจจะออกมาเลิศเลอเพอร์เฟ็ค แต่เอาเข้าจริงกลับมีปัญหาโน่นปัญหานี่มากมาย หากเราไปซื้อเครื่องมาโดยไม่ศึกษาข้อมูลก่อนจะซื้อล่ะก็ เราก็จะตกเป็นผู้โชคร้ายได้เป็นหนูลองยาให้คนอื่นก่อน จากนั้้นเราก็อาจจะไปบ่นตามเว็บไซต์ต่างๆ ว่าเครื่องนั้นมีปัญหาอะไร ไม่ดีตรงไหน และคนอื่นที่กำลังตัดสินใจจะซื้อเครื่องใหม่ก็จะเข้ามาศึกษาข้อมูล และนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจด้วยนั่นเอง
เรามาเป็นคนศึกษาข้อมูลก่อนซื้อเครื่องดีกว่าครับ ขืนไปซื้อเครื่องก่อนใครแล้วเครื่องออกมามีปัญหาเยอะ ก็อาจจะต้องเสียเวลารอทางผู้ผลิตแก้ปัญหาอีก เสียอารมณ์ไปเปล่าๆ

ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก http://androidthaicenter.com