สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ (สวส.)

Office of Academic Resources and Information Technology

ระบบบริหารจัดการเนื้อหาเว็บไซต์

ความหมายของ ระบบบริหารจัดการเนื้อหาเว็บไซต์
        ระบบบริหารจัดการเนื้อหาเว็บไซต์ (Content Management System : CMS) คือโปรแกรมที่เขียนขึ้นด้วยภาษสคริปต์ ทำงานอยู่บนเว็บเซิร์ฟเวอร์ในรูปแบบของเว็บแอปพลิเคชั่น นั่นคือเป็นแอปพลิเคชั่นที่ทำงานผ่านเว็บด้วยการแสดงผลในหน้าต่างของโปรแกรมเว็บเบราเซอร์ CMS เป็นโปรแกรมสร้างเว็บไซต์แบบสำเร็จรูป พร้อมกับมีเครื่องมือสำหรับบริหารจัดการเนื้อหาและองค์ประกอบต่างๆ บนเว็บไซต์อย่างครบถ้วน CMS มีคุณสมบัติในการจัดการกับเนื้อหาของเว็บไซต์ในปริมาณมากๆ ได้อย่างยืดหยุ่นตามความต้องการของผู้ดูแลเว็บไซต์ ภาษาสคริปต์ที่ถูกนำมาสร้างเป็นโปรแกรม CMS ส่วนใหญ่คือภาษา PHP, ASP และ JAVA และระบบ CMS จะจัดเก็บข้อมูลเนื้อหาไว้ในไฟล์ฐานข้อมูล เช่น MySQL, Protégé SQL และ Microsoft SQL เป็นต้นนอกจากนี้ CMS ยังได้นำเทคโนโลยีของภาษา XML (Extensible Markup Language) เข้ามาช่วยในการจัดการประเภทของข้อมูลอีกด้วย

องค์ประกอบของ ระบบบริหารจัดการเนื้อหาเว็บไซต์
     ระบบบริหารจัดการเนื้อหาเว็บไซต์ หรือ CMS ใดๆ ก็ตาม อย่างน้อยจะต้องมีองค์ประกอบอยู่ 3 ส่วนด้วยกัน จึงจะทำหน้าที่เป็น CMS ได้อย่างสมบูรณ์ นั่นคือ

  1. เครื่องมือจัดการเนื้อหา (Content Management Application : CMA)   มีหน้าที่จัดการเนื้อหาทุกชนิดบนหน้าเว็บเพจไปตลอดอายุของเนื้อหานั้น เริ่มตั้งแต่การสร้าง การรักษา และการลบทิ้งออกไปจากที่จัดเก็บข้อมูล ซึ่งอาจจะเป็นในไฟล์ฐานข้อมูล หรือแยกออกมาเป็นไฟล์ต่างหาก อย่างเช่น รูปประกอบต่างๆ ก็ได้ กระบวนการจัดการเนื้อหาโดยธรรมชาติแล้วจะอยู่ในแบบที่เป็นลำดับขั้นตอนและสำเร็จลงได้ด้วยการทำงานตามลำดับงาน (Workflow) ด้วยเช่นกัน ในส่วนของ CMA ยังช่วยให้นักเขียนของเว็บไซต์ที่ไม่มีความรู้ในภาษา HTML ภาษาสคริปต์ หรือโครงสร้างของเนื้อหาเว็บไซต์ สามารถสร้างเนื้อหาได้โดยง่าย ช่วยให้งานในการสร้างและดูแลเนื้อหาของเว็บไซต์ไม่ต้องการความรู้ระดับของเว็บมาสเตอร์อีกต่อไป การดูแลเนื้อหาของเว็บไซต์ในเวลาหนึ่งๆ อาจจะมีผู้ดูแลเนื้อหาเข้ามาทำงานพร้อมๆ กันหลายๆ คนก็ได้
     
  2. เครื่องมือจัดการข้อมูลของเนื้อหา (Metacontent Management Application : MMA)
    ข้อมูลของเนื้อหา (Metacontent) หรือข้อมูลของข้อมูล (Metadata) เป็นข้อมูลที่ใช้อธิบายข้อมูลอีกทีหนึ่ง เช่นข้อมูลที่อธิบายว่า “เนื้อหา” ชิ้นหนึ่งถูกสร้างขึ้นเมื่อไหร่ โดยใคร ถูกจัดเก็บไว้ที่ไหน ถูกใช้งานบนหน้าเว็บเพจไหน และจัดวางบนหน้าเว็บเพจนั้นอย่างไร เป็นต้น การจัดการข้อมูลของเนื้อหายังช่วยให้การควบคุมเวอร์ชั่นของชิ้นส่วนเนื้อหาต่างๆ บนเว็บไซต์ เป็นเรื่องที่ง่ายขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย MMA เป็นแอปพลิเคชั่นที่ใช้สำหรับจัดการวงจรทั้งหมดของ Metacontent เช่นเดียวกันกับ CMA ที่จัดการกับวงจรชีวิตของเนื้อหาเว็บไซต์ (Content) ทั้งหมดนั้นเอง
     
  3. เครื่องมือนำเสนอเนื้อหา (Content Delevery Application : CDA)
    มีหน้าที่ดึงชิ้นส่วนเนื้อหา ออกมาจากที่เก็บ และจัดเรียงลงบนหน้าเว็บเพจด้วยรายละเอียดจาก MMA เพื่อนำเสนอต่อผู้เข้าชมเว็บไซต์ โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ใช้งาน CMS สร้างเว็บไซต์มักจะไม่ค่อยได้ยุ่งเกี่ยวกับ CDA มากนัก นอกจากขั้นตอนการติดตั้งและการกำหนดรูปแบบการแสดงผล หลังจากนั้นก็ปล่อยให้ CDA ทำงานไปตามกระบวนการ นั้นคือ ข้อมูลของเนื้อหา เป็นสิ่งที่บอกต่อ CDA ว่า อะไรคือสิ่งที่จะต้องนำมาแสดง และถูกแสดงอย่างไร ไม่ว่าจะเป็น การจัดวาง สี ช่องว่าง ฟอนต์ ลิงก์ และอื่นๆ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ผู้ดูแลสามารถเปลี่ยนแปลงคุณลักษณะได้อย่างยืดหยุ่น โดยการเปลี่ยนเฉพาะในส่วนของข้อมูลเนื้อหา ไม่ต้องไปปรับเปลี่ยนที่ตั้วเนื้อหาโดยตรง คุณสมบัติข้อนี้ทำให้เว็บไซต์สามารถเปลี่ยนดีไซน์ทั้งหมดได้ทั้งกับเนื้อหาที่สร้างมานานแล้ว และกับเนื้อหาที่กำลังจะสร้างขึ้นใหม่ โดยไม่กระทบต่อการทำงานทั้งหมดของเว็บไซต์

ประโยชน์ของ ระบบบริหารจัดการเนื้อหาเว็บไซต์
     ประโยชน์เบื้องต้นที่ผู้ใช้งานจะได้รับ เมื่อนำ CMS เข้ามาสร้างและดูแลเว็บไซต์ มีดังนี้

  1. ควบคุมรูปแบบของเว็บไซต์ได้ดี ผู้ดูแลเว็บไซต์สามารถกำหนดรูปแบบมาตราฐานของเว็บได้ง่าย
  2. อัปเดตเว็บไซต์ได้จากทุกๆ ที่ สามารถเข้าถึงเครื่องมือบริหารจัดการเว็บไซต์ ผ่านทางอินเทอร์เน็ต จึงทำให้สามารถทำงานที่ไหนก็ได้ที่มีคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต
  3. ไม่ต้องติดตั้งโปรแกรม การเข้าใช้งาน CMS ต้องการเพียงเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีการต่อเชื่อมอินเทอร์เน็ต กับโปรแกรมเว็บเบราเซอร์เท่านั้น ไม่ต้องมีการติดตั้งโปรแกรมลงบนเครื่องใด
  4. ไม่ต้องมีความรู้ภาษา HTML และ Script สามารถบริหารจัดการเนื้อหาด้วยเครื่องมือ CMS ที่จัดเตรียมให้
  5. รองรับการทำงานจากผู้ใช้งานหลายคนได้พร้อมกัน CMS เป็นเว็บแอปพลิเคชั่นแบบ Client – Server  จึงรองรับการเข้าใช้งานเว็บเซิร์ฟเวอร์จากผู้ใช้งานหลายๆ คนได้ในเวลาเดียวกัน
  6. เพิ่มศักยภาพในการร่วมมือกันทำงาน เพราะใน CMS มีเครื่องมือในการควบคุมชิ้นส่วนเนื้อหา รองรับการทำงานร่วมกันของผู้ดูแลเว็บไซต์และผู้ใช้งาน
  7. การนำชิ้นส่วนเนื้อหากลับมาใช้ใหม่ เพราะระบบ CMS มีการแยกชิ้นส่วนของเนื้อหาออกจากกัน ทำให้การนำกลับมาใช้งานใหม่เป็นเรื่องที่ง่าย

การประยุกต์ใช้งาน ระบบบริหารจัดการเนื้อหาเว็บไซต์

  1. การนำ CMS มาช่วยในการสร้างเว็บไซต์สถาบันการศึกษา ธุรกิจบันเทิง หนังสือพิมพ์ การเงิน การธนาคาร หุ้นและการลงทุน อสังหาริมทรัพย์ งานบุคคล งานประมูล สถานที่ท่องเที่ยว งานให้บริการลูกค้า
  2. การนำ CMS มาช่วยในหน่วยงานของรัฐบาล อาทิ งานข่าว งานประชาสัมพันธ์ การนำเสนองานต่าง ๆขององค์กร
  3. การนำ CMS มาช่วยในการสร้างเว็บไซต์ส่วนตัว ชมรม สมาคม สมาพันธ์ โดยวิธีการแบ่งงานกันทำ เป็นส่วนๆ ทำให้เกิดความสามัคคี ทำงานมีการทำงานที่เป็นทีมเวิร์คมากขึ้น
  4. การนำ CMS มาช่วยในการสร้างเว็บไซต์สำหรับธุรกิจ เอสเอ็มอี โดยเฉพาะสินค้า หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือ OTOP ที่กำลังเป็นที่นิยมอยู่ในขณะนี้
  5. การนำ CMS มาใช้แทนโปรแกรมลิขสิทธิ์อื่น ๆ เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายและง่ายต่อการพัฒนา
  6. การนำ CMS มาช่วยในการทำ เว็บไซต์อินทราเน็ต ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่ใช้ภายในองค์กร


  อ้างอิงข้อมูลจาก http://www.pongkorn.net/content-management-system