
บทความนี้จะขอนำเสนอเรื่องไอทีที่มีความสัมพันธ์กับสุขภาพของเราครับ เพื่อนๆ บางคนอาจจะสังเกตได้ว่าหากเราใช้งานคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนก่อนนอน จะทำให้ไม่ง่วงและนอนหลับได้ยากขึ้น สิ่งนี้เกิดขึ้นจากการที่แสงสีน้ำเงินที่ออกมาจากจอแสดงผลของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ มีผลกับร่างกายเรานั่นเอง เหตุผลเนื่องจากตัวรับแสงภายในดวงตาของเราที่เรียกว่า เมลานอปซิน (Melanopsin) ที่เพิ่งค้นพบไม่นานมานี้นั้น มีความอ่อนไหวต่อเฉดแสงสีน้ำเงินในช่วงความยาวคลื่น 460-480 นาโนเมตร และส่งผลให้เราหลับได้ยากขึ้น จากการทดลองพบว่าในบุคคลทั่วไปที่ชอบอ่านหนังสือบนอุปกรณ์แทบเล็ตหลายๆ ชั่วโมงก่อนนอน จะนอนหลับได้ช้าลงประมาณเกือบหนึ่งชั่วโมง
ดังนั้น ถ้าหากหลีกเลี่ยงได้ ก็ควรจะใช้งานอุปกรณ์เหล่านี้ให้น้อยลงในช่วงหนึ่งถึงสองชั่วโมงก่อนที่จะนอนหลับนะครับ แต่หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ วันนี้ผมก็มีโปรแกรมมาแนะทำที่จะเอาไว้ช่วยเพื่อนๆ ที่ชอบเล่นคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือก่อนนอน ให้นอนหลับได้ง่ายขึ้นครับ ทำไมหน่ะเหรอครับ เพราะเจ้าโปรแกรม f.lux นี้สามารถปรับแสงที่ออกมาจากหน้าจออุปกรณ์ของเราให้มีปริมาณแสงสีฟ้าเหมาะสมต่างช่วงเวลานั่นเองครับ เจ้าโปรแกรมนี้ถูกสร้างขึ้นโดยอ้างอิงจากงานวิจัยจำนวนมากจึงค่อนข้างน่าเชื่อถือได้ครับ
หากเพื่อน ๆ สนใจสามารถทดลองดาวน์โหลดมาใช้ได้ที่ justgetflux.com โดยมีให้เลือกดาวน์โหลดทั้งเวอร์ชั่น Windows, Mac, Linux และ iPhone/iPad ครับ แต่สำหรับเวอร์ชั่นของ iPhone กับ iPad จะต้อง jailbreak เครื่องเสียก่อน เนื่องจากโปรแกรมนี้จำเป็นจะต้องเข้าถึงการควบคุมแสงที่ปล่อยออกมาจากหน้าจอนั่นเองครับ ผมได้ทดลองบนเครื่องคอมพิวเตอร์ MacBook Pro แล้ว พบว่าเมื่อเปิด f.lux แล้ว โปรแกรมจะค้นหาที่อยู่ของเราเพื่อกำหนดระดับแสงให้เหมาะกับเวลาขึ้น/ตกของดวงอาทิตย์ เราสามารถทดลองดูได้ว่าเมื่อถึงเวลาพระอาทิตย์ตก และเวลากลางคืนแล้ว หน้าจอจะเห็นเป็นอย่างไร เท่าที่ลองดูก็จะเห็นว่าหน้าจอกลายเป็นสีออกส้มๆ และแดงๆ เพิ่มขึ้นมากทีเดียวครับ
นอกจากนี้ เพื่อนๆ สามารถลองเช็คปริมาณแสงสีฟ้าที่ออกมาจากจอแสดงผลของอุปกรณ์หลากหลายชนิดได้จากเว็บไซต์ fluxometer.com ที่จะมีรายชื่อของอุปกรณ์ให้เราเลือกหลากหลายชนิดพร้อมกราฟแสดงปริมาณของแสงแต่ละชนิดที่จอของอุปกรณ์นั้นๆ ปล่อยออกมา และสามารถเปรียบเทียบกลับปริมาณแสงหลังจากเปิดโปรแกรม f.lux ได้ด้วยครับ ซึ่งจะเห็นว่าปริมาณแสงสีฟ้า (หรือน้ำเงิน) ลดลงอย่างมาก และมีปริมาณสีแดงเพิ่มขึ้นนั่นเอง
อ้างอิง...http://www.vcharkarn.com/varticle/502827
Justgetflux.com
Fluxometer.com