สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ (สวส.)

Office of Academic Resources and Information Technology

Infographic เทรนด์มาแรงในสังคม “เครือข่ายนิยม”


เรื่อง : อาศิรา พนาราม
 

ช่วงนี้หลายคนคงได้ยินคำว่า “อินโฟกราฟิก” (Infographic) กันจนหูแฉะทั้งในเว็บเครือข่ายสังคมและสื่อสาธารณะทั่วไป

Infographic หรือ Information Graphic นี้คืออะไร ? หากแปลตรงตัวก็คือ ภาพหรือกราฟิกซึ่งบ่งชี้ถึงข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นสถิติ ความรู้ ตัวเลข ฯลฯ เรียกว่าเป็นการย่นย่อข้อมูลเพื่อให้ประมวลผลได้ง่ายเพียงแค่กวาดตามอง ซึ่งเหมาะสำหรับผู้คนในยุคไอทีที่ต้องการเข้าถึงข้อมูลซับซ้อนมหาศาลในเวลาอันจำกัด (ก่อนที่พวกเขาจะเบื่อหน่ายเสียก่อน) ด้วยเหตุนี้ “อินโฟกราฟิก” จึงเป็นเหมือนพระเอกขี่ม้าขาวผู้เข้ามาจัดการกับ “ข้อมูล-ตัวเลข-ตัวอักษร” ที่เรียงรายเป็นตับเหมือนยาขม ให้กลายร่างมาเป็นภาพที่สวยงาม

 การทำอินโฟกราฟิกนี้ถือเป็นการเปิดโอกาสให้กราฟิกดีไซเนอร์ได้โชว์ทักษะด้านการสื่อสารกันแบบเต็มที่ เพราะอันที่จริงแล้ว การแปลงข้อมูลให้ออกมาเป็นภาพก็เป็นสิ่งที่คนทำกันมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่าย ภาพวาด กราฟิก กราฟรูปทรงต่างๆ ตาราง แผนที่ แผนผัง หรือไดอะแกรม แต่ทักษะทางด้านอินโฟกราฟิกนั้นจำเป็นต้องจัดระเบียบข้อมูลที่ทั้งมากและหลากหลายให้ “จบได้ในภาพเดียว”    

  กุหลาบของไนติงเกล อินโฟกราฟิกยุคบุกเบิก  
ก่อนที่จะมาคลายข้อสงสัยกันว่า ทำไมถึงอินจัง? ลองกลับไปดูการทำงานของอินโฟกราฟิกในยุคแรกๆ กัน เราคงคิดไม่ถึงว่านอกจากฟลอเรนซ์ ไนติงเกล (Florence Nightingale) จะเป็นพยาบาลในตำนานผู้อุทิศตนดูแลคนไข้อย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อยแล้ว ไนติงเกลยังเป็นผู้ออกแบบอินโฟกราฟิกที่มีคุณูปการต่อการสาธารณสุข (ของทหารและชนชั้นล่าง) อย่างมหาศาล ด้วยการอุทิศเวลารวบรวมข้อมูลและออกแบบ “กุหลาบไนติงเกล” ไดอะแกรมทรงพลังระดับเปลี่ยนสังคมขึ้นมาได้



จากการได้เข้าไปดูแลทหารที่ผ่านสงครามมาในค่าย เธอพบว่า สิ่งที่คร่าชีวิตของทหารผ่านศึกได้ในจำนวนมากเท่าๆ กับทหารที่ตายในสงคราม ก็คือสภาพความเป็นอยู่ในสถานพยาบาลของทหารที่ทั้งสกปรกและแออัดยัดเยียด ทำให้เกิดการติดเชื้อรุนแรงและการสูญเสียชีวิตโดยไม่จำเป็น ไนติงเกลเสนอข้อมูลนี้ต่อรัฐ แต่สถาบันชั้นสูงไม่สนใจเสียงเรียกร้องของพยาบาลตัวเล็กๆ คนหนึ่ง เธอจึงคิดค้นหาทางนำเสนอข้อมูลใหม่โดยปรึกษากับนักสถิติศาสตร์ จนในที่สุด ไนติงเกลก็สามารถออกแบบ Diagram of the Causes of Mortality ที่เปรียบเทียบส่วนต่างของจำนวนการเสียชีวิตของทหารจากเหตุสุดวิสัย และเหตุที่สามารถป้องกันได้ด้วยการสาธารณสุขที่ดีขึ้น แทนที่จะนำเสนอเป็นตารางบรรจุข้อมูลยาวเหยียด ไดอะแกรมของไนติงเกลบ่งชี้ความต่างของข้อมูลด้วยสีและขยายพื้นที่ออกจากศูนย์กลางจนดูเหมือนกลีบดอกกุหลาบ (ในเวลาต่อมาผู้คนจึงเรียกผลงานชิ้นนี้ว่า Nightingale Rose Diagram)


ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล รู้ว่าเธอมีเวลาดึงความสนใจจากผู้มีอำนาจได้ไม่มาก ฉะนั้น เธอจึงต้องนำเสนอข้อมูลในรูปแบบที่ทั้งดึงดูดที่สุดและเข้าใจง่ายที่สุดไปพร้อมกัน เธอเริ่มเผยแพร่ไดอะแกรมนี้สู่ผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้อง (ไปจนถึงพระราชินีวิคตอเรียที่ก็มีโอกาสได้ทอดพระเนตร) จนในที่สุด ข้อเสนอของเธอก็ถูกรับฟัง ส่งผลให้การสาธารณสุขในค่ายทหารค่อยๆ พัฒนาดีขึ้น     
 

  สร้างคลื่นพลังใหม่ในเครือข่ายสังคม   
แม้อินโฟกราฟิกจะเกิดขึ้นมาเนิ่นนานในหลากหลายรูปแบบ แต่สิ่งที่ผลักดันให้มัน “อิน” สุดๆ ได้ ณ ขณะนี้ ก็เพราะมันได้มาทำงานร่วมกับ “เครือข่ายสังคม” ที่สามารถกระจายข้อมูลได้อย่างรวดเร็วและง่ายดายเหมือนไฟลามทุ่ง

การใช้งานอินโฟกราฟิกเพื่อสื่อสารข้อมูลที่ซับซ้อนเริ่มได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในปี 2005 กระแสของมันแรงขึ้นมาพร้อมๆ กับเว็บอย่าง digg และ reddit ที่รวบรวมและเผยแพร่ข่าวสารบทความด้านเทคโนโลยี มันทำงานร่วมกับเครือข่ายสังคมโดยเปิดช่องทางให้ใครก็ได้โพสต์ข้อมูลที่น่าสนใจขึ้นมา และหากโพสต์นั้นเข้าท่า สมาชิกก็จะเข้ามาช่วยกัน “ขุด” (dig) ยิ่งโพสท์ไหนมียอดขุดเยอะก็จะยิ่งขึ้นมาอยู่ด้านบนเหนือโพสต์อื่นๆ เหตุนี้ทำให้บรรดาบล็อกเกอร์นักโพสต์ต่างแข่งขันกันจัดเต็มให้กับโพสต์ของตัวเอง ใส่ลูกเล่นกันเต็มที่ทั้งภาพ ดนตรี ไฟล์วิดีโอ ฯลฯ จนในที่สุด ก็มีคนหัวใสงัดเอาอินโฟกราฟิกขึ้นมาใช้เป็นไม้ตาย ทำให้มันได้รับความนิยมและแพร่กระจายอย่างรวดเร็วไปสู่วงการต่างๆ



      ในต่างประเทศ อินโฟกราฟิกถือเป็นอาวุธสำคัญของสำนักข่าวต่างๆ ใครที่ออกแบบได้เจ๋ง สวย สื่อสารดี ก็จะถือไพ่เหนือกว่า เมื่อครั้งที่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปี 2008 สำนักข่าวทุกแห่งต่างพากันออกแบบอินโฟกราฟิกเพื่อรายงานความคืบหน้า คะแนนนิยม รวมไปถึงแคมเปญหาเสียงต่างๆ ของผู้สมัคร หลายคนยังใช้อินโฟกราฟิกเพื่อช่วยอธิบายถึงนโยบาย การใช้งบประมาณ และอื่นๆ ด้วย



  ออกแบบอย่างไรให้โดนใจ  
3 คำถามหลักที่นักออกแบบต้องตอบให้ได้ก่อนจะเริ่มทำอินโฟกราฟิกก็คือ ทำไม? อย่างไร? แล้วจะใช้งานได้ดีไหม? ซึ่งการจะสร้างอินโฟกราฟิกให้ออกมาดีนั้น นักออกแบบจำเป็นจะต้องมีพื้นฐานความเข้าใจในตัวข้อมูลที่ซับซ้อน ต้องรู้ชัดถึงจุดมุ่งหมายของอินโฟกราฟิก (เช่น ใครคือกลุ่มเป้าหมายที่จะสื่อสารด้วย) จากนั้นจึงค่อยหาวิธีแทนค่าตัวข้อมูลให้ปรากฏออกมาเป็นกราฟิกที่เรียบง่ายและสวยงาม ส่วนขั้นตอนสุดท้ายก็คือ การวัดผลว่า อินโฟกราฟิกที่ออกแบบมานั้นสามารถตอบโจทย์ได้ตรงหรือไม่ ถ้าไม่ก็ต้องกลับไปเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ (การวัดผลด้านการใช้งานถือเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะอินโฟกราฟิกไม่มีสูตรตายตัว)

    เคล็ดลับสำหรับสุดยอดอินโฟกราฟิก   
1. เรียบง่ายเข้าไว้ : จำไว้ว่าอินโฟกราฟิกที่ดูวุ่นวายยุ่งเหยิงนั้นไม่เคยใช้ได้ผล
2. ตรวจสอบข้อเท็จจริง : ข้อมูลที่ผิดพลาดจะเป็นตัวบั่นทอนเครดิตของนักออกแบบมากที่สุด ฉะนั้นต้องตรวจสอบข้อมูลรวมถึงพิสูจน์อักษรให้ถูกต้องเสมอ
3. ใช้สีให้เป็น : เลือกใช้สีเพื่อการสื่อสารที่ทรงพลัง ชัดเจน เข้าใจง่าย และต้องรู้จักอารมณ์ของสีให้ดี 
4. ใส่เฉพาะตัวเลขที่จำเป็น : ตัวเลขเยอะๆ ไม่ได้หมายถึงการให้ข้อมูลที่ดีเสมอไป หลายครั้งตัวเลขที่มากเกินไปอาจทำให้เกิดความสับสนหรือสื่อสารผิดพลาดได้ 
5. ทำคำบรรยายให้น่าอ่าน : ลองสังเกตคำบรรยายใต้ภาพในจอโทรทัศน์เป็นตัวอย่าง เรื่องราวดีๆ จะยิ่งน่าสนใจขึ้นเมื่ออยู่กับภาพที่ดูดี
6. กระชับเนื้อหาเข้าไว้ : การนำเสนอภาพกราฟิกที่ดีที่สุดต้องการแค่สาระสำคัญที่ครบถ้วนด้วยจำนวนตัวอักษรที่จำกัด
7. ขนาดมีผล : สร้างงานด้วยไฟล์ที่มีขนาดเล็กที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้แต่ยังคงคุณภาพของงานที่ชัดเจนไว้ (เพื่อที่เวลาคนดาวน์โหลดหรือนำไปเผยแพร่ต่อจะได้สะดวกรวดเร็ว)
8. ลองสมัครสมาชิก Daily Infographic เพื่อหาแรงบันดาลใจเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลงานคุณภาพเจ๋งๆ

เครดิตข้อมูล:
http://www.historyandwomen.com/2011/08/florence-nightingale.html
http://www.instantshift.com/2009/06/07/infographic-designs-overview-examples-and-best-practices/
http://www.theprcoach.com/infographics-how-to-make-them-work-best/
http://spyrestudios.com/the-anatomy-of-an-infographic-5-steps-to-create-a-powerful-visual/

เครดิตภาพ: 
http://www.penn-olson.com/2010/01/13/10-gorgeous-social-media-infographics/
http://wellmedicated.com/lists/40-beautiful-infographic-designs/
http://www.historyandwomen.com/2011/08/florence-nightingale.html
http://elections.nytimes.com/2008/president/whos-ahead/key-states/map.html?hp
http://thailogolover.blogspot.com/2011/07/infographic-thailand-election-2011.html
http://www.coolinfographics.com/blog/tag/energy
http://www.collthings.co.uk/2011/01/cool-infographics-best-designs-from.html

ที่มา : http://www.tcdc.or.th/src/16562/www-tcdcconnect-com/Infographic