สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ (สวส.)

Office of Academic Resources and Information Technology

เคล็ดลับเก็บเส้นแสงด้วย Slow Shutter Speed

                        
 
เริ่มต้นแล้วกับช่วงเวลาการประดับประดาแสงไฟตามท้องถนนอาคารบ้านเรือน
สีสันของค่ำคืนอีกหนึ่งไฮไลท์ที่คนถ่ายภาพต้องไม่พลาดเก็บภาพ
สิ่งที่มองเห็นสามารถเปลี่ยนให้กลายเป็นความมหัศจรรย์
ไปลองค้นหาและทำให้เป็นจริงด้วยตัวคุณเอง
 
     Slow Shutter Speed หรือการเลือกใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำเป็นเคล็ดลับของการบันทึกภาพแสงไฟในช่วงเทศกาลคริสต์มาส และปีใหม่ให้สวยงามกว่าที่ตามองเห็น โดยไม่จำกัดว่าจะเป็นกล้องประเภทใดเนื่องจากกล้องทุกตัวทุกรุ่นสามารถปรับให้เป็นความเร็วชัตเตอร์ต่ำได้เมื่อตั้งค่าแล้วก็ควรมีขาตั้งกล้อง (Tripod) ยึดตัวกล้องกับเลนส์ให้นิ่งเพื่อความความชัดแสดงรายละเอียดของภาพได้มุมเดิมในขณะที่กำลังทดลองว่าควรจะเปิดหน้ากล้องเท่าใด เปิดความเร็วชัตเตอร์ต่ำแค่ไหน ด้วยความไวแสงที่ ISO100 กล้องใครทำได้ต่ำกว่านี้ก็สามารถปรับใช้ได้เช่นกัน ซึ่งแสงไฟที่เป็นหลอดไฟเล็กๆ กับหลอดนีออนยาวๆ มีเคล็ดลับในการเก็บภาพแตกต่างกันเล็กน้อย อีกทั้งถ้าตัวโครงสร้างถูกติดตั้งให้เคลื่อนที่ลักษณะหมุนรอบตัวเองในแนวตั้งก็จะเพิ่มความสนุกให้แก่การถ่ายภาพได้ภาพแปลกน่าอัศจรรย์อีกไม่น้อย เชื่อว่าหลายท่านอยากทราบกันแล้วว่าจะทำอย่างไรเชิญไปร่วมค้นหา และเรียนรู้ไปพร้อมๆ กันได้เลย

เพลิดเพลินกับการหมุนไป...ซูมไป...ถ่ายไป

     
  
F29, 1 sec, ISO100, AWB, Focal Length30mm, Tripod         F29, 1 sec, ISO100, AWB, Zooming Lens Technique   

ไฟประดับงาน น่าจะคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีกับแสงไฟที่นำไปตกแต่งสถานที่ทั่วบริเวณงานตามถนนคนเดิน หรือเทศกาลต่างๆ มีทั้งที่เป็นแบบใบพัด แบบดอกไม้ โดยเฉพาะอันที่สามารถหมุนได้จัดว่าเป็นวัตถุดิบของเล่นสำหรับนักถ่ายภาพอย่างดีเนื่องจากสามารถใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำ (Slow Shutter Speed) เก็บแสงสีของหลอดฟลูออเรสเซ้นท์แต่ละหลอดให้เกิดเป็นลักษณะใบพัดหมุนยิ่งเปิดหน้ากล้องนานก็จะเห็นเป็นใบพัดวงกลมหลากสี สำหรับท่านที่อยากเปลี่ยนจากใบพัดธรรมดาให้กลายเป็นเหมือนกลีบดอกไม้นั้นมีเคล็ดลับง่ายๆ ด้วยการหมุนช่วงซูมเข้า-ออกจะลองทั้งยึดกับขาตั้งกล้อง หรือถือด้วยมือเปล่าก็ได้แต่ควรหาจุดโฟกัสให้ได้แล้วปรับสวิทช์เป็นแมนนวล(MF)เพื่อป้องกันภาพเบลอเพราะกล้องหาโฟกัสใหม่เองระหว่างกดชัตเตอร์ และสุดยอดเคล็ดวิชาที่จะทำให้เกิดภาพแปลกกว่าเดิมก็คือ ทดลองหมุนกล้องไปด้วยพร้อมกับการซูมเปลี่ยนช่วงทางยาวโฟกัส

เลือกความเร็วที่...คิดว่าสวยของเรา         

     

F22, 4 sec, ISO100, AWB, Focal Length29mm, Tripod        F22, 4 sec, ISO100, AWB, Focal Length29mm, Tripod

ชิงช้าสวรรค์ เชื่อว่าหลายท่านมีประสบการณ์ร่วมทั้งที่เคยขึ้นไปนั่ง และเคยบันทึกภาพเอง ตัวชิงช้าสวรรค์มักจะประดับไฟหลอดทังสเตนสีเหลือง (Tungsten Light) จากภาพตัวอย่างด้านซ้ายหากบันทึกภาพขณะตัวชิงช้าไม่หมุนก็ดูธรรมดาไม่เกิดความรู้สึกว่ามีการเคลื่อนที่ แต่เมื่อเลือกบันทึกภาพตอนชิงช้ามีการหมุนก็จะได้ภาพตัวอย่างทางขวาที่เกิดเป็นวงล้อไฟให้อารมณ์การเคลื่อนที่ของวัตถุขัดแย้งกับต้นคริสต์มาสที่นิ่งสงบกลายเป็นความลงตัวที่สวยงาม เคล็ดลับสำคัญต้องอย่าลืมพกขาตั้งกล้อง กับสายลั่นชัตเตอร์ หรือรีโมทไปคู่กันเพื่อให้ภาพมีความคมชัดสูงเก็บรายละเอียดได้ครบถ้วนจากการเปิดรูรับแสงแคบ (Aperture) ใช้ความไวแสงต่ำเพื่อป้องกันโอกาสเกิดสัญญานรบกวน (Noise) ขึ้นในภาพ หากใช้รูรับแสงกว้างเส้นไฟจะใหญ่มีความฟุ้งมากเกินไป สำหรับความเร็วชัตเตอร์ควรลองดูหลายๆ ค่าเพราะความเร็วในการหมุนของวัตถุแต่ละรอบมักจะไม่เท่ากันจึงต้องคอยสังเกตการเปลี่ยนแปลง

ตามใจ...แล้วแต่จินตนาการ

     
    F16, 1.6 sec, ISO200, AWB, Focal Length200mm,      F16, 1.6 sec, ISO200, AWB,  Rotate Camera Technique
                           Tilt  Technique


    ไฟกะพริบ  หลอดไฟประดับเล็กที่พันอยู่รอบต้นไม้ที่มีหลากหลายแบบหลากหลายสี มีทั้งเปิดค้างไว้ และกะพริบสลับไปมาการเลือกถ่ายภาพเพียงดวงเดียวคงไม่ทำให้ดูน่าสนใจดังนั้นการเลือกบันทึกภาพแสงจากการอยู่รวมกันมากมายจะทำให้การสร้างสรรค์ภาพสนุกขึ้นเพราะมีพื้นที่ในการเคลื่อนที่กล้องการถ่ายภาพลักษณะนี้ขาตั้งกล้องอาจไม่ใช้คำตอบที่ดีที่สุด แต่การเลือกใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำเปิดรับแสงให้นานจะทำให้เก็บแสงได้ด้วยเทคนิคการหมุนกล้อง ซูมกล้อง ปรับกล้องขึ้น-ลง ภาพที่ได้แต่ละครั้งรับรองว่าไม่เหมือนกันเลยแล้วแต่จินตนาการว่าจะมองภาพออกมาเป็นอะไร บ้างก็ว่าเป็นภาพแนว Abstract ซึ่งโหมดMจะทำให้คุณได้ภาพที่เป็นหนึ่งเดียวในโลกจากฝีมือตนเองได้ไม่ยากหากหมั่นฝึกฝนทดลองเป็นประจำ

ที่มา :  
http://www.bigcamera.co.th/triptrick/detail/802