สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ (สวส.)

Office of Academic Resources and Information Technology

ถ่ายก่อนชิม... 7 เทคนิคถ่ายภาพอาหารแบบง่ายๆ

1 หาองศาแสงสวยๆ
ถ้าคุณทานอาหารในห้างสรรพสินค้าหรือร้านที่ไม่มีแสงธรรมชาติส่องเข้ามาเลย แสงสว่างเกิดจากหลอดไฟล้วนๆ 
และส่องลงมาตรงๆ จากด้านบน ต้องบอกว่าความสวยงามอาจจะไม่เต็มร้อยนะครับ แต่ถ้าคุณไปร้านที่แสงแดดส่องเข้ามาได้ แถมนั่งใกล้หน้าต่างด้วย ก็เริ่มสนุกล่ะครับ
 
แสงส่องเฉียงมาจากทางด้านหลัง (Back light) 
ถ้าคุณสั่งอาหารประเภทหั่นชิ้นเล็กๆ สับ ซอย ฝานบาง หั่นฝอย ใส่จานแบนแผ่ออกแนวกว้าง หรืออาหารประเภทต้ม แกง ซุป ที่ใส่ภาชนะ อาหารลักษณะนี้ต้องการโชว์พื้นผิว “ด้านบน” เป็นหลัก ควรใช้แสงที่ส่องเฉียงมาจากทางด้านหลัง คือถ่ายกึ่งๆ ย้อนแสงนั่นเอง ทิศทางแสงแบบนี้จะทำให้เกิดเงาด้านหน้า ช่วยโชว์พื้นผิวของอาหารได้ดี นอกจากนี้แสงที่ส่องผ่านชิ้นอาหารบางๆ ก็จะทำให้เห็นสีสัน ลวดลาย ความสดใสของอาหารชัดเจนขึ้น เช่น ผักใบบางๆ ของทอดบางกรอบ หมึกหรือกุ้งตัวขาวๆ ใสๆ และการถ่ายย้อนแสงนี้จะช่วยทำให้เห็นควันที่ลอยกรุ่นชัดที่สุด
 
แสงที่ส่องมาจากด้านข้าง (Side Light)
แต่ถ้าคุณสั่งอาหารที่ต้องการโชว์รูปทรงของมัน เช่น ทรงกระบอก ก้อนเหลี่ยม ทรงกลม หรือโชว์ความสูง ความหนา โชว์ชั้น (Layers) ที่ซ้อนกันของอาหาร อาหารลักษณะนี้ควรหลีกเลี่ยงแสงที่ส่องมาจากด้านหลังเพราะจะเกิดเงาดำที่ด้านหน้ามากเกินไปจนไม่เห็นรายละเอียด ควรใช้แสงที่ส่องมาจากด้านข้าง เพื่อช่วยเน้นให้เห็นรูปทรงและพื้นผิวด้านข้างชัดเจนขึ้น 


2 หามุมถ่ายใหม่ๆ
บางคนมีความเชื่อว่าการถ่ายภาพอาหารต้องเป็นมุมกด 45% นี่ไม่ใช่ความคิดที่ดีนัก อย่ายึดติดกับมุม 45% ครับ หรือบางคนถ่ายภาพอาหารจากมุมที่ตัวเองนั่งเท่านั้น คุณก็จะไม่ภาพอาหารในมุมเดิมตลอด อาหารแต่ละประเภทมีมุมที่สวยแตกต่างกันไปนะครับ ลองมุมสูงบ้าง มุมต่ำบ้าง หมุนจานบ้าง

                                       

                                                  

3 ฉากหลังไม่กวนสายตา
หลังจากได้ทิศทางแสงและมุมที่โอเคแล้ว ลองสังเกตฉากหลังหรือ Background ว่ามีอะไรรบกวนสายตาหรือไม่ ถ้ามี..ลองขยับหามุมที่ดีขึ้นอีกสักนิด หาฉากหลังที่เรียบง่าย สีสันสะอาดตา หรือถ้าใช้กล้องระดับโปรฯ ลองปรับความชัดตื้นให้ฉากหลังเบลอฟุ้งก็ได้ และถ้าจะให้ละเอียดขึ้นอีก ฉากก็ไม่ควรเป็นสีเดียวกับอาหาร เช่น อาหารสีแดง ฉากก็ไม่ควรเป็นสีแดง เพราะจะทำให้อาหารดูไม่เด่น

                                         

                                         


4 ปรับสมดุลสีขาว 
หากเป็นอาหารประเภทของเย็น โดยปกติเราก็จะตั้งค่าให้ตรงตามสภาพแสงนั้น แต่ถ้าเป็นอาหารประเภทของร้อน เราอาจจะปรับสมดุลสีขาวให้อุ่นกว่าความเป็นจริงเล็กน้อย ข้อควรระวังคือการถ่ายอาหารใต้แสงไฟนีออน ภาพออกมาอมฟ้า-อมเขียว จะทำให้ดูน่ากลัว มากกว่าน่ากิน

                                         

5 ใส่ใจในรายละเอียด 
เช่น ความสะอาดของโต๊ะและภาชนะ รูปแบบการวางช้อน ส้อม มีด หรือลักษณะของอาหาร เช่น ระวังเมล็ดข้าวหก, ซอสหยดเลอะเทอะ, เห็นแต่หางกุ้งโผล่ขึ้นมาไม่เห็นตัว, เห็นแต่เปลือกหอยว่างๆ ที่ไม่มีตัวหอย, ไข่ต้มที่ไข่แดงแตกเละ เป็นต้น ไม่ได้หมายความว่าให้เรียกร้องขอจานใหม่จากทางร้านนะครับ แต่รายละเอียดเหล่านี้ เราจัดการตกแต่งได้ก่อนลงมือถ่ายภาพ
                                        

6 อย่าใช้พร็อพเยอะ
บางคนชอบขนเอาพร็อพเข้ามาอยู่ในภาพจนดูวุ่นวายไปหมด ทั้งขวดเครื่องปรุง แจกัน ป้ายเมนู ขวดเครื่องดื่ม แก้วน้ำ ฯ ลองพิจารณาดีๆ ว่าอะไรที่เหมาะกับเมนูจานนั้นจริงๆ เช่น ถ้าคุณไปทานสเต็ก มีพร็อพเป็นไวน์สักแก้วก็พอแล้ว ไม่ต้องเห็นขวดพริกไทย ขวดซอส หรอกครับ เพราะใครๆ ก็รู้อยู่แล้วว่ามันมีทุกร้าน    
                                               

7 ตัดบ้าง หั่นบ้าง ไรบ้าง
เพื่อเพิ่มระดับความน่าอิจฉาแก่เพื่อนๆ พาพวกเขาเข้าใกล้การกินของคุณขึ้นอีกนิด ลองถ่ายภาพอาหารที่โดนคุณหั่น ตัด เพื่อโชว์เนื้อใน โชว์ของสอดไส้ หรือโชว์เลเยอร์ของอาหารที่สีสันต่างกัน หรือถ่ายภาพตอนที่คุณกำลังราดน้ำผึ้งลงบนขนมปัง กำลังรินชาลงในถ้วย แค่นี้ก็น่ากินขึ้นอีกเยอะ

       


 ที่มา ​: ลุงแว่น ราชครู


http://www.chillpainai.com/scoop/357/%E0%B8%96%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%8A%E0%B8%B4%E0%B8%A1-7-%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%84%E0%B8%96%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%81%E0%B8%9A%E0%B8%9A%E0%B8%87%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%86/