สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ (สวส.)

Office of Academic Resources and Information Technology


Office of Academic Resources and Information Technology

ตลาดแท็บเลตปลายปี "คับคั่ง"

   นักวิเคราะห์ชี้ คอมพิวเตอร์แท็บเลตที่มีออกสู่ตลาดอย่างหลากหลายในช่วงที่ผ่านมา จะทำให้ฤดูกาลซื้อของขวัญสิ้นปีนี้เป็นปีแรกที่ไอแพดจะพบกับการแข่งขันที่หนักหน่วง ขณะที่ผู้บริโภคจะเกิดความสับสนในการเลือกซื้อแท็บเลต

    ซาราห์ รอตแมน เอปปส์ นักวิเคราะห์ตลาดอุปกรณ์คอมพิวเตอร์จากบริษัทวิจัย ฟอร์เรสเตอร์ กล่าวว่า สิ่งที่แตกต่างไปสำหรับฤดูการซื้อของขวัญสำหรับเทศกาลคริสต์มาสที่กำลังจะมาถึงในช่วงปลายปีนี้ คือนอกจากผู้บริโภคจะมีตัวเลือกมากขึ้นในตลาดแท็บเลตแล้ว ยังเป็นตัวเลือกที่ดีมากด้วย "เมื่อก่อนมีอุปกรณ์ที่อยากจะเป็นไอแพดเป็นจำนวนมากแต่ไม่เคยมีอุปกรณ์ใดที่เป็นทางเลือกในแง่ของคุณภาพ แต่เวลานี้มีอยู่หลายรุ่น" เอปปส์กล่าว แต่อย่างไรก็ดี เธอเสริมว่า ในขณะที่ทางเลือกเป็นสิ่งที่ดีสำหรับผู้บริโภค แต่ก็ทำให้การเลือกซื้อของมีความสับสนและยุ่งยาก
    เดอะ นิวยอร์ก ไทม์ส ระบุว่า สำหรับผู้ผลิตแท็บเลตแล้ว การเดิมพันในตลาดดังกล่าวสูงกว่าเพียงการจำหน่ายตัวเครื่องอุปกรณ์ แต่ละบริษัทพยายามดึงดูดลูกค้าให้หันมาเลือกใช้บริการผลิตภัณฑ์อื่นๆ ของตนเองด้วย อาทิ เพลง ภาพยนตร์ แอพพลิเคชัน อีบุ๊ก หรือเว็บเสิร์ช เป็นต้น แม้ว่าแอปเปิลจะครอบครองตลาดแท็บเลตมาโดยตลอด ด้วยยอดขายที่เหนือกว่าคู่แข่งอย่างมาก แต่เวลานี้แอปเปิลกำลังถูกคู่แข่งไล่กวดมาอย่างกระชั้นชิด "แอปเปิลเปิดพื้นที่ให้คู่แข่งได้เติบโตอีกมาก" เทโร คุยทิเนน นักวิเคราะห์อิสระให้ความเห็น
    คุยทิเนนกล่าวต่อไปว่า การคงราคาขายแท็บเลตไว้ในระดับสูงอาจทำให้แอปเปิลสูญเสียตำแหน่งผู้ผลิตแท็บเลตรายใหญ่ที่สุด เหมือนที่สูญเสียตำแหน่งในตลาดสมาร์ทโฟนให้กับซัมซุงที่จำหน่ายอุปกรณ์ระบบแอนดรอยด์ในราคาที่ถูกกว่า ข้อมูลจากไอดีซีในไตรมาส 3 ของปี 2555 ระบุว่า ไอแพดยังครองส่วนแบ่งตลาดอยู่ถึง 50% แต่เป็นตัวเลขที่ลดลงจาก 60% เมื่อปีก่อน ขณะที่ซัมซุงตามมาเป็นอันดับ 2 ด้วยส่วนแบ่ง 18% อเมซอนอยู่ในอันดับ 3 ที่ 9% และเอซุส ซึ่งเป็นผู้ผลิตแท็บเลต เน็กซัส 7 ให้กับกูเกิล มีส่วนแบ่ง 8.6% เป็นอันดับ 4
    ขณะเดียวกัน กูเกิลยังตามหลังในตลาดแท็บเลตอยู่มาก จากข้อมูลของบริษัทออนสไวป์ฯ 98% ของเว็บทราฟฟิกจากแท็บเลตมาจากไอแพด กูเกิลต้องการเพิ่มสัดส่วนทราฟฟิกดังกล่าว อีกทั้งต้องการให้ผู้บริโภคจำนวนมากขึ้นหันมาซื้อแอพพลิเคชันและคอนเทนต์จาก กูเกิล เพลย์ สโตร์ เช่นเดียวกับอเมซอนและไมโครซอฟท์ ที่ต้องการดึงลูกค้าเข้ามาซื้อคอนเทนต์ในแอพสโตร์ของตนเอง
    อย่างไรก็ดี การตัดสินใจซื้ออุปกรณ์ในระบบแอนดรอยด์ของกูเกิลก็มีความซับซ้อนด้วยตัวเลือกที่หลากหลายทั้งแบรนด์ รูปแบบ และขนาด แม้แต่แอปเปิลเองที่มีไลน์ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน เวลานี้ก็มีตัวเลือกในตลาดแท็บเลตทั้งนิวไอแพด ไอแพด 2 และไอแพดมินิ ซึ่งเมื่อนับความแตกต่างของหน่วยความจำและระบบเชื่อมต่อ ก็มีไอแพดให้เลือกซื้อมากถึง 14 รุ่น
    การมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายออกสู่ตลาดไม่ใช่เรื่องใหม่ในตลาดที่เติบโตเต็มที่แล้ว อย่างไรก็ดี ชอว์ วู นักวิเคราะห์จากสเติร์น อากี ชี้ว่า บริษัทผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ให้ตัวเลือกกับผู้บริโภคมากเกินไปเคยประสบปัญหามาแล้ว ในจำนวนนั้นรวมถึงโมโตโรลา โมบิลิตี ที่พยายามพลิกฟื้นธุรกิจโทรศัพท์มือถือด้วยการลดจำนวนอุปกรณ์ลงจาก 27 รุ่น หรือรีเสิร์ช อิน โมชั่น ที่ส่งอุปกรณ์แบล็คเบอร์รี่ออกวางตลาดด้วยชื่อที่สับสน อย่าง แบล็คเบอร์รี่ ทอร์ช 9810, 9850 และ 9860
    ไมเคิล การ์เทนเบิร์ก นักวิเคราะห์จากการ์ทเนอร์กล่าวว่า กูเกิลจะมีโอกาสประสบกับปัญหาความสับสนของผู้บริโภคสูงกว่าเจ้าของระบบอื่น เนื่องจากกูเกิลเปิดกว้างให้ผู้ผลิตอุปกรณ์สามารถนำระบบแอนดรอยด์ไปใช้ ส่งผลให้มีอุปกรณ์แอนดรอยด์ในเวอร์ชันที่แตกต่างกันออกสู่ตลาดโดยไม่มีการควบคุมให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 32 ฉบับที่ 2,794 วันที่  22-24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555