สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ (สวส.)

Office of Academic Resources and Information Technology

เลขเรียกหนังสือ (Call number)

       การจัดหมวดหมู่หนังสือ  เป็นการแบ่งกลุ่มประเภทเนื้อหาของหนังสือให้หนังสือที่มีเนื้อหาเหมือนกัน หรือใกล้เคียงกันมาอยู่รวมกันแล้วใช้สัญลักษณ์เป็นตัวเลข  หรือตัวอักษรตามที่กำหนดไว้ในระบบ  เขียนไว้ที่สันหนังสือ ทุกเล่ม  ทั้งนั้นเพื่อให้ง่ายต่อการแยกจัดเก็บไว้ในชั้นสะดวกต่อการค้นหาของผู้ใช้ บริการสัญลักษณ์ที่เขียนกำกับไว้บนสันหนังสือนี้เรียกว่า เลขเรียกหนังสือ
          เลขเรียกหนังสือ (Call number) คือ สัญลักษณ์เพื่อบอกตำแหน่งที่อยู่ของหนังสือเล่มนั้นในห้องสมุด โดยห้องสมุดกำหนดขึ้นสำหรับหนังสือแต่ละเล่มโดยเฉพาะ  ซึ่งจะไม่ซ้ำกัน ทำให้สะดวกในการจัดเก็บหนังสือขึ้นชั้น และสะดวกในการค้นหา ส่วนประกอบของเลขเรียกหนังสือ  ประกอบด้วย
  1. เลขหมู่หนังสือ
  2. อักษรตัวแรกของชื่อผู้แต่ง
  3. อักษรตัวแรกของชื่อเรื่อง
 
  1. เลขหมู่หนังสือ (Classification Number) เป็นสัญลักษณ์ที่กำหนดขึ้นเพื่อแสดงเนื้อหาของหนังสือ การกำหนดสัญลักษณ์เพื่อแสดงเนื้อหา ของหนังสือนั้นอาจแตกต่างกันตามระบบการจัดการหนังสือ ยกตัวอย่างในระบบดิวอี้  (D.C)  จะกำหนดไว้เป็นตัวเลข 
 


 
        ดิวอี้ใช้ตัวเลขสามหลักเป็นสัญลักษณ์ในการแบ่งหมวดหมู่หนังสือ  โดยแบ่งหนังสือออกเป็น 10 หมวดใหญ่  แต่ละหมวดใหญ่แบ่งออกเป็น 10 หมวดย่อย  แต่ละหมวดย่อยแบ่งออกเป็น 10 หมู่ย่อย แต่ละหมู่ย่อยแบ่งออกเป็นจุดทศนิยม โดยทศนิยมจะมีมากกว่าหนึ่งตำเเหน่ง อาจจะมี 4-6 ตำเเหน่งก็ได้


 


 
  1. เลขผู้แต่ง (Author Number, Book Number) สัญลักษณ์ที่ประกอบด้วยตัวอักษรและตัวเลขตัวอักษร ได้มาจากอักษรตัวแรกของชื่อผู้แต่งที่ใช้ลงรายการหลัก ส่วนตัวเลขนั้น บรรณารักษ์เป็นผู้กำหนดขึ้นการกำหนดเลขผู้แต่งนี้ บรรณารักษ์จะกำหนดขึ้นโดยใช้ตารางกำหนดเลขผู้แต่งเป็นบรรทัดฐานในการให้เลขผู้แต่ง
            - อักษรตัวแรกของผู้แต่ง   หรืออักษรย่อจากชื่อผู้แต่ง กรณีเป็นชาวต่างประเทศจะใช้ชื่อสกุล เป็นอักษร ตัวแรก  โดยจะเขียนอักษรตัวแรกไว้บรรทัดที่สองบน สันหนังสือ ถัดจากเลขหมู่หนังสือลงมา  ดังตัวอย่าง
 
 
            - เลขประจำตัวผู้แต่ง เป็นเลขที่กำหนดขึ้นมาจากชื่อของผู้แต่งแต่ละคนเพื่อให้มี ความแตกต่างกันโดยเฉพาะผู้แต่งที่มีอักษรย่อตัวเดียวกันเลขผู้แต่งจะเขียนไว้บนสันหนังสือต่อจากอักษรย่อผู้แต่ง 
 

ภาพตัวอย่างตารางเลขผู้แต่งหนังสือภาษาไทยสำเร็จรูป ของหอสมุดแห่งชาติ หมวด ก.
 
     3. อักษรชื่อเรื่อง (Workmark) เป็นสัญลักษณ์ได้มาจากพยัญชนะตัวแรกของชื่อหนังสือ ในห้องสมุดขนาดใหญ่ที่มีหนังสือ เป็นจำนวนมาก โอกาสที่หนังสือจะมีเลขหมู่ซ้ำกัน เลขผู้แต่งซ้ำกันย่อมมีได้มาก ห้องสมุดจึงช่วยให้ผู้ใช้เห็นความแตกต่างของหนังสือแต่ละเล่มโดยใส่อักษรตัวแรกของชื่อเรื่องไว้ในเลขเรียกหนังสือออกด้วย อักษรชื่อเรื่องนี้จะอยู่ถัดจากเลขผู้แต่ง เลขเรียกหนังสือจะปรากฏอยู่ที่สันหนังสือ หรือหน้าปกของหนังสือแต่ละเล่ม และปรากฏที่ผลการสืบค้นเมื่อทำการสืบค้นในฐานข้อมูล    บรรณานุกรมหนังสือของห้องสมุด โดยทำการจดเลขเรียกหนังสือที่ปรากฏ เพื่อไปทำการค้นหาหนังสือที่ชั้น  เพื่อความสะดวกรวดเร็ว
 
ตัวอย่างหน้าจอแสดงเลขเรียกในฐานข้อมูลบรรณานุกรม


เลขเรียกหนังสือนอกจากจะมีส่วนประกอบ  3 ส่วนดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังอาจมี ส่วนอื่น ๆ  เพิ่มเข้ามาอีก  ดังนี้
          การใช้ตัวอักษรประกอบเลขหมู่หนังสือ  สำหรับหนังสือบางประเภทเพื่อให้ง่ายต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่และสะดวกสำหรับผู้ใช้  ได้มีการนำตัวอักษรมาประกอบกับเลขหมู่หนังสือ  โดยจะให้ตัวอักษรอยู่เหนือเลขหมู่หนังสือ  ตัวอักษรที่นำมาประกอบเลขหมู่หนังสือได้แก่  “  อ ”  หมายถึง  หนังสืออ้างอิง  ถ้าเป็นหนังอ้างอิงภาษาอังกฤษจะใช้  “  R”  หรือ  “ Ref “  มาจากคำว่า  Reference
 

​ตัวอย่างการติดเลขเรียกหนังสืออ้างอิงแบบเดิม


​ตัวอย่างการติดเลขเรียกหนังสืออ้างอิงแบบใหม่

          การใช้ตัวอักษรแทนเลขหมู่หนังสือ  หนังสือบางประเภท  การจัดหมวดหมู่จะพิจารณาจากลักษณะการประพันธ์  ถ้าหากเป็นนวนิยาย  ซึ่งมีกลวิธีในการนำเสนอเรื่องคล้ายกัน  ก็จัดเป็นประเภทเดียวกัน  ไม่ได้พิจารณาจากเนื้อเรื่องนวนิยาย  สำหรับตัวอักษรที่ใช้แทนเลขหมู่หนังสือ  ได้แก่
         น  หรือ  นว  หมายถึง  นวนิยายไทย
         F  หรือ Fic หมายถึง  นวนิยายอังกฤษ  มาจากคำว่า  Fiction
         ร.ส.  หมายถึง  เรื่องสั้น
         S.C  หมายถึง  เรื่องสั้นภาษาอังกฤษ  มาจากคำว่า  Short  Story  Collection
นอกจากการใช้ตัวเลข  และตัวอักษรประกอบเลขหมู่หนังสือ  และแทนเลขหมู่หนังสือข้างต้นแล้ว จะมีส่วนเพิ่มเติมในกรณีที่มีหลายเล่มจบ   ล. 1  หมายถึง  เล่มที่  1  จะต้องใส่ไว้บรรทัดที่ 4
ของสันหนังสือว่าเป็นเล่มที่เท่าไหร่  เช่น  ล.1, ล.2, ล.3 เป็นต้น ถ้าเป็นหนังสือภาษาอังกฤษให้ใช้ V.1, V.2 , V.3  (Volume) บรรทัดที่ 3 จะเป็นปีพ.ศ. ที่จัดพิมพ์หนังสือ
ในกรณีที่หนังสือนั้นซื้อมาหลายฉบับจะต้องใส่ด้วยว่า
เป็นฉบับที่เท่าไหร่  เช่น    ฉ.1, ฉ.2, ฉ.3 เป็นต้น  ถ้าเป็นภาษาอังกฤษให้ใช้  C.1, C.2 ,  C.3 (Copy)


 
/////////////////////////////////////////////////////////////////////
ประเภทบทความ: