สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ (สวส.)

Office of Academic Resources and Information Technology

เจาะลึกบริการและเทคโนโลยีโครงข่ายโทรคมนาคมยุคหน้า NGN

เจาะลึกบริการและเทคโนโลยีโครงข่ายโทรคมนาคมยุคหน้า NGN 

 

แนวโน้มการใช้สมาร์ทโฟนต่อเข้าระบบขององค์กรเพื่อทำงานได้จากทุกที่


ในฉบับต้อนรับปีใหม่ที่ผ่านไป เราได้เริ่มกล่าวถึงยุทธศาสตร์ของค่ายมือถือสำหรับลูกค้าองค์กรสู่ยุคสมาร์ทโฟนโดยยกตัวอย่างในกรณีประเทศญี่ปุ่นกันไปคร่าวๆ ซึ่งในแง่ของประเภทโซลูชั่นก็จะมีทั้งการแนะนำแอพพลิเคชั่นใหม่ๆ ที่มีบน Market Place เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และประเภทที่ใช้สมาร์ทโฟนต่อเข้าระบบขององค์กรหรือบริษัทเพื่อสามารถทำงานได้จากทุกที่ดังที่จะกล่าวถึงในครั้งนี้กันครับ
    

 

จากแนวโน้มความนิยมในการใช้สมาร์ทโฟนที่เพิ่มมากขึ้นๆ ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในตลาดมือถือของลูกค้าประเภทองค์กร โดยปัจจุบันเริ่มมีองค์กรนำสมาร์ทโฟนมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้มากขึ้น ซึ่งโซลูชั่นหนึ่งก็คือการอนุญาตให้พนักงานสามารถต่อเข้าเพื่อเข้าระบบขององค์กรหรือบริษัทเพื่อให้สามารถใช้งานได้ทั้งในและนอกบริษัท เช่น เข้ามาเช็กตารางเวลา อีเมล์ หรือแม้กระทั่งเข้ามาดูเอกสารที่เกี่ยวกับงาน ทำให้พนักงานสามารถทำงานได้ถึงแม้อยู่จะอยู่นอกบริษัทเช่น ตรวจสอบข้อมูลซึ่งเป็นเอกสารที่เก็บไว้ในระบบบริษัท เพื่อใช้นำเสนอต่อลูกค้าที่บริษัทของลูกค้าที่ไปพบอยู่ต่างๆ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การใช้งานประเภทนี้จะมีประเด็นที่ต้องคำนึงถึงในเรื่องของความปลอดภัย และ policy ในการจัดการตัวสมาร์ทโฟนด้วย 
      

 

ตัวอย่างแบบหนึ่งของลักษณะการใช้งานสมาร์ทโฟนประเภทนี้จะเป็นดังรูปที่ 1 โดยภาพรวมของการต่อเชื่อมระบบผ่านโครงข่ายนั้น เราจะต่อสมาร์ทโฟนผ่านโครงข่ายมือถือหรือ Wi-Fi ผ่านเข้าสู่อินเทอร์เน็ตเพื่อต่อเข้าสู่บริษัท ซึ่งจะมีระบบที่เป็นเกท์เวย์ในการเชื่อมต่อสมาร์ทโฟนของพนักงานของบริษัทนี้เข้าสู่เซิร์ฟเวอร์ที่รับผิดชอบแอพพลิเคชั่นที่เกี่ยวข้องในการทำงานอย่างในการรับส่งอีเมล์ก็อาจมีอีเมล์เซิร์ฟเวอร์ เป็นต้น ตัวเกท์เวย์นี้ปกติก็จะวางไว้ในโซน DMZ และมีหน้าที่เช่นการจัดการตัวสมาร์ทโฟน โดยจะมีการลงทะเบียนข้อมูลเกี่ยวกับสมาร์ทโฟนที่อนุญาตให้ต่อเข้าเซิร์ฟเวอร์ที่รับผิดชอบแอพพลิเคชั่นในการทำงานต่างๆในบริษัทดังกล่าวข้างต้นได้ ในการตรวจสอบข้อมูลของสมาร์ทโฟนเพื่อทำ Authentication ในการอนุญาตให้เข้าระบบของบริษัทนั้นก็อาจจะดูทั้งข้อมูลเฉพาะของตัวเครื่องเอง อย่าง IMEI (International Mobile Equipment Identity) รวมถึงดูข้อมูลที่เกี่ยวกับผู้ใช้บริการอย่างเช่น SIM (Subscriber Identity Module) ประกอบด้วย ซึ่งจะทำให้สามารถป้องกันกรณีที่มีการใช้สมาร์ทโฟนที่ได้รับอนุญาตแต่เปลี่ยนซิมในการต่อเข้าระบบของบริษัทได้ด้วย นอกจากนั้น การที่มีการลงทะเบียนข้อมูลไว้ที่เกท์เวย์จะมีข้อดีคือเมื่อเกิดกรณีที่สมาร์มโฟนถูกขโมยไป เราสามารถปฏิเสธการขอเข้าระบบของบริษัทได้จากการยกเลิก หรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลที่ลงทะเบียนไว้  
      

 

ในส่วนของสมาร์ทโฟนเองส่วนใหญ่ก็ต้องมีการลงแอพพลิเคชั่นเฉพาะที่เป็น client ไว้ และทำการ provisioning ตัวเครื่องสมาร์ทโฟนให้ตรงตาม policy ต่างๆ ในการจัดการตัวเครื่องที่กำหนดโดยบริษัท เช่น การตรวจสอบแอพพลิเคชั่นที่ไม่อนุญาตให้ลงไว้บนสมาร์ทโฟน หรือมีการนำเครื่องที่ไปทำเจลเบรก (ในกรณีของไอโฟน) มาใช้งานหรือเปล่า โดยอาจมีโซลูชั่นบางประเภทที่ช่วยอำนวยความสะดวกสำหรับพนักงานบริษัท ซึ่งเป็นผู้ใช้สมารท์โฟนให้ง่ายในการลงแอพพลิเคชั่นดังกล่าวด้วยตัวเอง (เพื่อเป็นการลดภาระกับแผนกไอทีของบริษัทที่ต้องมานั่งลง client ทีละเครื่องๆ ให้พนักงานที่ต้องการใช้สมาร์ทโฟนในการต่อเข้าบริษัท) โดยมีอีเมล์แจ้งไปยังพนักงานที่ใช้สมาร์ทโฟนพร้อมลิงก์ที่จะให้ไปดาวน์โหลดตัว client มาลงไว้ในเครื่อง ซึ่งหลังจากนั้นตัว client ก็จะต่อเข้ามายังเกท์เวย์ซี่งจะส่งข้อมูลในการตั้งค่าของสมาร์ทโฟนไปยังตัวเครื่อง เป็นการทำให้สมาร์ทโฟนอยู่ภายใต้การควบคุมของบริษัทได้อย่างเรียบร้อยนั่นเอง

 

      
รูปที่ 1 ตัวอย่างภาพรวมการต่อเชื่อมสมาร์ทโฟนเข้าระบบของบริษัทของลูกค้าองค์กรเพื่อให้สามารถทำงานได้จากทุกที่

 

 

อ้างอิง Online url:http://www.tjinnovation.com/Section.php?cat=38&id=1211